บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แถลงผลการดำเนินงานในรอบปี 2562 มีกำไรสุทธิ 5,963.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตอีก 780 เมกกะวัตต์ และ ลงทุนโครงการการระบบสาธารณูปโภคให้ถึง 5% ของเงินทุนในปีนี้ โดยจัดเตรียมเงินลงทุนจำวนวน 20,000 ล้านบาท รองรับเป้าหมายการลงทุนใหม่และโครงการเดิมที่ลงทุนไว้แล้ว ทั้งนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งศึกษาการลงทุนในโครงการด้านนวัตกรรมที่เป็นธุรกิจ New S-Curve และเตรียมพร้อมเข้าร่วมโครงการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) ระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2562 บริษัทฯ รับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งได้เข้าซื้อกิจการเมื่อปลายปี 2562 โครงการโรงไฟฟ้าเบิกไพรโคเจนเนอเรชั่น ซึ่งเดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาซาฮาน-1 ในอินโดนีเซียที่ได้ลงทุนเมื่อปลายปี 2561 และโครงการพลังงานลมเมาท์เอเมอรัล ที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์เมื่อปลายปีเดียวกัน บวกกับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนและการจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปี 2562 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 6.7% เป็นจำนวน 5,963.28 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 4.11 บาท ขณะที่กำไรก่อนต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้และอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย เป็นจำนวน 9,996.24 ล้านบาท สำหรับปี 2563 บริษัทฯ มุ่งเน้นการลงทุนแบบซื้อกิจการที่ดำเนินงานแล้วและโครงการประเภท Brownfields มากขึ้น เพื่อให้สามารถรับรู้ผลตอบแทนและเพิ่มมูลค่ากิจการได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้ามาช่วยทดแทนรายได้จากโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะปลดจากระบบในปีนี้ด้วย
สำหรับเป้าหมายการลงทุนในปี 2563 ประกอบด้วยโครงการในประเทศได้แก่ โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่น โครงการโรงไฟฟ้าประเภท SPP และโครงการโรงไฟฟ้า Independent Power Supply ส่วนในต่างประเทศ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ และพลังงานทดแทน โยประเทศเป้าหมายหลัก ได้แก่ เวียดนาม สปป. ลาว อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ส่วนโครงการระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจะเน้นการลงทุนในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะโครงการ PPP ของภาครัฐ และธุรกิจ New S-Curve ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมทั้ง Internet of Things ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และระบบส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ
ทั้งนี้บริษัทฯ มีทิศทางในการบริหารการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จตามแผน NNEG สร้างส่วนขยายโรงไฟฟ้ายานดิน โรงไฟฟ้าคอลเลกเตอร์ มีรูปแบบบริหารโรงไฟฟ้าหลักสร้างผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมาย อาทิ โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าหงสา และกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมทั้งเน้นลงทุนด้วยการซื้อกิจการที่สร้างรายได้ทันที เป้าหมายสำคัญนั้นคือการลงทุนต่างประเทศเพื่อส่วนต่อขยายทางธุรกิจเป็นการสร้างความยั่งยืนและเพิ่มศักยภาพ