กระแสของแนวความคิดเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development : SD) ในปัจจุบันมีความสำคัญต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม การท่องเที่ยว การบริหาร โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
แนวความคิดของ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วย 2 แนวความคิดหลักๆ คือ (1) การมองให้ไกลจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน และคนรุ่นต่อๆ ไปในอนาคต และ (2) การมองอย่างรอบคอบและครบถ้วน นั่นคือมองทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
กระแส “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยมากขึ้นทุกวัน แต่เป็นผลกระทบในเชิงสร้างสรรค์ โดยผลักดันให้ผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้มีการประกอบการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
เมื่อผู้ประกอบการมีการปรับตัวตามแนวทางดังกล่าว ก็จะส่งผลให้การปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมและของเสียจากภาคอุตสาหกรรมน้อยลง นอกจากนี้ยังทำให้มีการใช้ทรัพยากรและพลังงานได้อย่างประหยัดและคุ้มค่า ซึ่งจะช่วยให้สามารถลดต้นทุนในการผลิตลงได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง
นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนตามแนวทาง “อุตสาหกรรมสีเขียว” (Green Industry : GI) เป็นการจัดทำนโยบายแบบบูรณาการเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนตํ่า (Low Carbon Society) และสอดคล้องกับนโยบายของประเทศในเรื่องการพัฒนา “สู่การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน” (Sustainable Consumption and Production) ดังนั้น “อุตสาหกรรมสีเขียว” จึงมีความสอดคล้องกับภาคส่วนอื่นๆ
ปัจจุบัน การส่งเสริมประชาชนและผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้า หรือเลือกใช้บริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในประเทศไทย ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากจำนวนสินค้าและบริการของกลุ่มนี้ในตลาดยังมีจำนวนน้อย ดังนั้น นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแนวทาง “อุตสาหกรรมสีเขียว” จึงเป็นตัวเร่งที่สำคัญในการส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมในท้องตลาดมากขึ้น
นอกจากนี้ เครือข่ายสีเขียว (Green Network) ซึ่งเป็นหลักการของอุตสาหกรรมสีเขียวในระดับที่ 5 ยังระบุให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องมีการส่งเสริม ให้ความรู้ และช่วยพัฒนาผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เช่น ผู้บริโภค ประชาชน โดยนำหลักการ20193434การพัฒนาอย่างยั่งยืนไปใช้ด้วย ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรและพลังงานในภาพรวมของประเทศได้ด้วย
“กรอบความคิด” หรือ “ทัศนคติ” ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง (อีกประการหนึ่ง) ต่อการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นเลิศในอนาคต ได้แก่ การบูรณาการของทุกภาคส่วน
“การมีส่วนร่วม” หรือ “การบูรณาการ” จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในทุกมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในอดีตที่ผ่านมาผู้มีส่วนได้เสียของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะประชาชนหรือชุมชนรอบโรงงาน มักจะไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการผลิตหรือวิธีดำเนินงานภายในโรงงาน และเมื่อได้รับความเดือดร้อนรำคาญก็ไม่มีช่องทางในการสื่อสารกับโรงงานโดยตรง ทำให้เกิดความรู้สึกและมุมมองด้านลบต่อทั้งผู้ประกอบการและภาครัฐที่เป็นผู้อนุญาตและกำกับดูแล ดังนั้น นโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจังสำหรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การอนุญาต และการประกอบกิจการ ตลอดจนมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
นโยบายที่เน้นการมีส่วนร่วมจะทำให้ผู้มีส่วนได้เสียเหล่านี้ มีช่องทางในการสื่อสารกับผู้ประกอบการโดยตรง ได้รับความเป็นธรรมในการใช้ทรัพยากรและมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ และยอมรับว่าโรงงานเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในที่สุด ซึ่งจะส่งผลผลดีต่อทั้งปัจจุบันและในอนาคตของการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย
- ภาคอุตสาหกรรม ต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการประกอบการ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม
- ภาครัฐ ต้องมีความโปร่งใสในการจัดทำนโยบายและการดำเนินการ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงใจ
- ภาคประชาชน ต้องมีจิตสำนึกและมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบ ต่อสังคม
ในวันนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่ภาคอุตสาหกรรมหลีกเลี่ยงได้ยาก จึงควรจะต้องยึดเอาหลักการของ “อุตสาหกรรมสีเขียว” ไปประยุกต์ปฏิบัติ เพราะ “อุตสาหกรรมสีเขียว” เป็น “อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” อย่างแท้จริง ครับผม!
Source: GREEN NETWORK หน้า 34 คอลัมน์ GREEN Industry โดย ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี