กระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อมรับมือ ปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซธรรมชาติ เจดีเอ เอ-18 ระหว่างวันที่ 7-21 กรกฎาคม 2562 ส่งผลปริมาณก๊าซธรรมชาติหายจากระบบ 440 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ประสาน ปตท-กฟผ. วางมาตรการรองรับไม่ให้กระทบเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าและก๊าซเอ็นจีวีพื้นที่ภาคใต้
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน โฆษณากระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมรับมือแหล่งก๊าซธรรมชาติพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ เอ-18) ซึ่งจะหยุดซ่อมบำรุงเพื่อปรับปรุงและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ผลิตและส่งก๊าซธรรมชาติ ในระหว่างวันที่ 7-21 กรกฎาคม 2562 รวม 14 วัน ส่งผลให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบ ประมาณวันละ 440 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติ ทั้งในส่วนของเชื้อเพลิงเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าและการผลิตก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ดังนั้น กระทรวงพลังงานได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในสังกัด ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการวางมาตรการรรับมือทั้งด้านความพร้อมมในการผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการก๊าซเอ็นจีวี เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าและการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในพื้นที่ภาคใต้
สำหรับการรับมือทาง กฟผ. ได้เตรียมพร้อมโดยปรับระบบการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าจะนะ ชุดที่ 1 และ 2 ให้พร้อมเดินเครื่องด้วยเชื้อเพลิงสำรอง ซึ่งใช้เชื่อเพลิงเป็นน้ำมันดีเซลแทน เพื่อให้สามารถเดินเครื่องได้ในช่วงที่ไม่มีก๊าซธรรมชาติจ่ายให้โรงไฟฟ้า และเตรียมความพร้อมเชื้อเพลิง โดยให้สำรองน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาเพิ่มให้เพียงพอต่อการใช้งานในช่วงดังกล่าว โดยโรงไฟฟ้าจะนะ สำรองน้ำมันดีเซลขั้นต่ำ 18.6 ล้านลิตร และโรงไฟฟ้ากระบี่ สำรองน้ำมันเตาขั้นต่ำ 10 ล้านลิตร
นอกจากนี้ยังได้แจ้งโรงไฟฟ้าภาคใต้ทุกโรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้ากระบี่ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนบางลางงและโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ให้พร้อมเดินเครื่องและงดการหยุดซ่อมบำรุงในช่วงเวลาที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ เจดีเอ เอ-18 หยุดซ่อมบำรุง รวมทั้งประสานการไฟฟ้ามาเลเซียเพื่อซื้อไฟฟ้าผ่านระบบส่งกระแสตรงแรงดันสูง (HVDC) รองรับการใช้ไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน
ขณะที่ทาง ปตท. เตรียมพร้อมจัดส่งน้ำมันเพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดช่วงการซ่อมบำรุง โดยเตรียมแผนรองรับสถานการณ์และบรรจุก๊าซเอ็นจีวีจัดเก็บใส่รถขนส่งก๊าซ เพื่อสำรองไว้ก่อนการหยุดผลิต รวมถึงมีการวางแผนจัดสรรก๊าซจากพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อขนส่งมายังพื้นที่ในภาคใต้ตอนล่าง ให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวีจำนวน 12 แห่ง ใน 4 จังหวัด ซึ่งได้แก่ พื้นที่ใน จ.สุราษฎร์ธานี 4 แห่ง จ.นครศรีธรรมราช 3 แห่ง จ.สงขลา 4 แห่ง จ.นครศรีธรรมราช 3 แห่ง จ.สงขลา 4 แห่ง และ จ.ปัตตานี อีก 1 แห่ง ซึ่งจากข้อมูลในปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวมีความต้องการใช้ก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 90 ตันต่อวัน
นอกเหนือจากมาตรการรับมือสถานการณ์ตามตามข้างต้นแล้ว เพื่อให้เกิดการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ทางกระทรวงพลังงานได้ขอความร่วมมือจากผู้ใช้บริการในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรมและประชาชน ร่วมประหยัดพลังงานในช่วงเวลา 18.00-21.30 น. ในช่วงที่มีการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอ เอ-18 อีกด้วย