บีโอไอร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เตรียมจัดงาน SUBCON Thailand Virtual Edition แพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบครั้งแรกระหว่างวันที่ 20 – 27 กันยายนนี้ รองรับยุคนิวนอร์มอล ชี้ช่องจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด หวังกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงเทคโนโลยีการผลิตรวมถึงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจากผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นนำทั่วโลก
นางสาวซ่อนกลิ่น พลอยมี รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai SUBCON) และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย จัดงาน SUBCON Thailand งานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่ธุรกิจชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งงานนี้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี
โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 15 สำหรับปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 27 กันยายน 2564 และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 งานในปีนี้ใช้ชื่อว่า SUBCON Thailand Virtual Edition จะเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์เต็มรูปแบบ ซึ่งรวบรวมเทคโนโลยีการผลิตและชิ้นส่วนอุตสาหกรรมจากผู้ผลิตชิ้นส่วนชั้นนำไว้อยู่บนแพลตฟอร์ม อีกทั้งเป็นจุดนัดพบสำคัญสำหรับผู้ซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและผู้ผลิตชิ้นส่วนในการเชื่อมโยงทางธุรกิจ
ไฮไลท์ในงาน อาทิ การเจรจาและจับคู่ทางธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ( Online Business Matching Program) โดยผู้ซื้อและผู้ผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมสามารถเจรจาธุรกิจทางออนไลน์ระหว่างกัน โดยมีการทำนัดหมายล่วงหน้าผ่านโปรแกรมบนแพลตฟอร์ม รวมทั้งมีกิจกรรม Business Networking ในรูปแบบ Buyer/Supplier Presentation ตลอดจนการจัดสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในหลากหลายหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ เรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์แห่งอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมนำร่องอย่างหนึ่งที่จะตอบโจทย์นโยบาย BCG ของรัฐบาล ในการช่วยลดการลดก๊าซเรือนกระจก (Carbon Neutrality) เรื่องโครงการส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการในการใช้นวัตกรรมต้นแบบด้านระบบดาวเทียมระบุตำแหน่งและนำทาง (GNSS) เรื่องจับสัญญาณอนาคตการลงทุนใน CLMVI รวมถึงมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางการนำเสนอ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถนำเสนอสินค้า/บริการของตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ Live Streaming บนแพลตฟอร์ม โดยจะมีช่อง chat ไว้ให้ผู้ที่สนใจสามารถพูดคุยหรือติดต่อกับบริษัทได้
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมระบบราง โดยจะมีผู้เข้าร่วมงานทั้งผู้ขายชิ้นส่วนในประเทศและผู้ซื้อทั้งจากในและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย จีน สหรัฐฯ เป็นต้น คาดว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ประมาณ 300 คู่ และมีมูลค่าการเชื่อมโยงที่คาดว่าจะเกิดการซื้อขายในอนาคตประมาณ 1,200 ล้านบาท
“ในช่วงสถานการณ์โควิด อุตสาหกรรมการผลิตทั่วโลกได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์ กำลังการผลิต และกระบวนการผลิต ทำให้การผลิตระหว่างประเทศที่ต้องพึ่งพากันประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบในการผลิต ผู้ผลิตรายใหญ่จึงให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยงและลดปัญหาผลกระทบดังกล่าว โดยพยายามกลับมาใช้ชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่ผลิตภายในประเทศหรือในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งงาน Subcon Thailand จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสำคัญในการตอบโจทย์การจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบและชิ้นส่วนภายในประเทศ สำหรับผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ช่วยลดความเสี่ยง ลดเวลา ลดต้นทุน และลดภาระความยุ่งยากในการติดต่อ จัดหาชิ้นส่วน วัตถุดิบ และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการผลิตที่หลายๆ บริษัทกำลังประสบปัญหาอยู่” รองเลขาธิการบีโอไอ กล่าว
ปัจจุบันการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของไทยมีความเข้มแข็งโดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งยังคงเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ระบาด ความต้องการสินค้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกันบีโอไอได้ปรับขยายสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรแปรรูป ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ ระบบราง และอุตสาหกรรมอากาศยานและซ่อมบำรุง เพื่อตอบสนองการเติบโตและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai SUBCON) กล่าวว่า สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย หรือไทยซับคอน มีกลุ่มสมาชิกมากกว่า 400 บริษัท ที่เป็นโรงงานผู้ผลิตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วน โดยสมาชิกส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาสมาชิกได้ต่อยอดอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม S – Curve มาผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ เพิ่มโอกาสการค้าในหลายตลาด หลายอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมระบบราง เป็นต้น
ในช่วงวิกฤตโควิด -19 ตั้งแต่ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ในหลายๆ ประเทศได้รับผลกระทบจากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ทั่วโลกหยุดการผลิตชั่วคราวซึ่งรวมถึงไทยด้วย อย่างไรก็ดี ในเดือนมิถุนายน 2563 ผู้ผลิตรถยนต์ในไทยกลับมาเดินหน้าผลิตหลังจากประเทศได้ควบคุมสถานการณ์โควิดได้ และไทยยังสามารถเป็นเจ้าภาพจัดงานมอเตอร์โชว์ได้ครั้งแรกของโลกในช่วงนั้น และอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็เริ่มฟื้นตัว ซึ่งยอดสั่งซื้อจำนวนการผลิตของสมาชิกก็เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันในปี 2564
ทั้งนี้ เชื่อว่าปัจจุบันเรื่องการจัดงานแบบออนไลน์ หรือการทำ Business Matching Online เป็นเรื่องที่แพร่หลาย เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไม่ควรปฏิเสธ เพราะปัจจุบันสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถเรียนรู้และนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้ ทั้งประหยัดเวลาเดินทาง สามารถบันทึกการประชุมไว้ดูย้อนหลังได้ ลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการประชุมไปได้มาก
นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า รูปแบบการจัดงาน SUBCON Thailand Virtual Event บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นครั้งแรกของการจัดงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัลครบวงจร ซึ่งจะเป็นพื้นที่เชื่อมโยงทางธุรกิจและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจัดซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมชั้นนำทั่วโลก และผู้ผลิตชิ้นส่วนได้พบปะสร้างเครือข่ายธุรกิจกับผู้ประกอบการจากทั่วโลก โดยกิจกรรมไฮไลท์ในงานยังนำเสนอเทคโนโลยีเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมในโชว์รูมดิจิทัลอินเตอร์แมค (INTERMACH Showroom) เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่รวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดการผลิตและลดต้นทุนธุรกิจจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชั้นนำ พร้อมทั้งข้อเสนอพิเศษมากมาย
นอกจากนี้ ยังมี Conference Theatre รวมการสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการกว่า 40 หัวข้อ อาทิ สัมมนายานยนต์อนาคตเกี่ยวกับนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า และ Low Carbon Society สัมมนาเรื่องสร้างธุรกิจหลังวิกฤตโควิด – 19 ด้วยเทคโนโลยี Digital Transformation for Manufacturing Technology และ 3D Printing for Manufacturing Revolution งานและทักษะฝีมือเพื่อรองรับการทางานในยุคหุ่นยนต์ เป็นต้น มุ่งเน้นตอบโจทย์ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดิจิทัล ภายในฮอลล์กิจกรรม (Event Hall) จะรวบรวมกิจกรรมพิเศษ เช่น การ LIVE แสดงเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการเครื่องจักรอุตสาหกรรมชั้นนำ อาทิ มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ออโตเมชั่น ชมการสาธิตการตัดงานจากเครื่องเลเซอร์ และการทำงาน Wire – cut EDM และ Die – sinker EDM ที่จะช่วยยกระดับการผลิต
ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มเป้าหมายจะเข้าร่วมกิจกรรมบนแพลตฟอร์มดิจิตอลครั้งนี้กว่า 5,000 ราย ตลอดกิจกรรม