บริษัท โตโยต้า ทูโช อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2548 (2005) เพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานพัฒนาและส่งออกซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ไปยังประเทศญี่ปุ่น และในเดือนเมษายน 2560 ที่ผ่านมา โตโยต้า ทูโช อิเล็กทรอนิกส์คอร์ปอร์เรชั่น ได้ควบรวมกิจการกับบริษัท โตเมน อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ปอร์เรชั่น และเปลี่ยนชื่อเป็น เน็กซ์ตี้ อิเล็กทรอนิกส์ คอร์ปอเรชั่น (NEXTY Electronics Corporation) ทำให้บริษัทลูกในประเทศไทยเปลี่ยนชื่อจากโตโยต้า ทูโช อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) เป็นโตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์)
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด จัดแข่งขันประกวดซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์จำลองไร้คนขับ หวังเพิ่มบุคลากรด้านซอฟต์แวร์อุตสาหกรรมยานยนต์ ต่อยอดสู่ยานยนต์แห่งอนาคต
โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) ผู้พัฒนาระบบซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ให้กับโตโยต้า ผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของประเทศไทยและของโลก จัดการแข่งขันประกวดเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์จำลองไร้คนขับ (Annual Student Meeting on Automotive Embedded System หรือ AMAS) ติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรของไทยด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมยานยนต์ และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานในการพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
การจัดงานในครั้งนี้ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า ทูโช เด็นโซ อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วยสมาคมสมองกลฝังตัวไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัทเทคซอร์สซิสเต็ม (ไทยแลนด์) ในการจัดงานประกวดเขียนซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์จำลองไร้คนขับ AMAS เป็นการแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขัน 12 ทีมจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี FIBO ภายใต้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
มิสเตอร์ มาซามิ อิคุระ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพัฒนาซอฟต์แวร์ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) กล่าวว่า “ประเทศไทยถือว่าเป็นฐานในการผลิตและพัฒนายานยนต์ที่มีความสำคัญอย่างมาก จะทำอย่างไรให้ระดับความสามารถของประเทศไทยไปสู่การแข่งขันระดับโลก การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์จัดการภายในรถยนต์จะสามารถเข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยไปสู่ระดับโลกในอนาคตอันใกล้ ทำให้เรามองเห็นถึงความสำคัญในการให้ความรู้กับภาคการศึกษาในประเทศไทย เพื่อเป็นการบ่มเพาะและสร้างบุคลากรทางด้านการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ที่ต่อไปจะเป็นเหมือนกับสมองสั่งการยานยนต์ในอนาคต ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเดินนำหน้าประเทศอื่นๆ ไปได้ก่อนจะสามารถสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันเป็นอย่างสูง และสามารถพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางในการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์อนาคตที่สำคัญของโลกต่อไป”
การจัดการแข่งขัน AMAS ทางบริษัทมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ การเพิ่มและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ โดยทางบริษัทโตโยต้า ทูโชฯ ได้เข้ามาสนับสนุนทั้งทางด้านอุปกรณ์ คือ รถจำลอง และชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับทีมนักศึกษาเพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ โดยพัฒนาตามรูปแบบ Model Base Development Base (MBD)
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลกในแง่ของกำลังการผลิตรถยนต์ที่ประมาณ 2 ล้านคัน มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 3% โดยเฉลี่ย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกวันนี้มากกว่าครึ่งของโลกนั้น คือรถยนต์นั่งที่มีความต้องการและกำลังเปลี่ยนแปลงระบบข้างในที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและเชื่อมกันด้วยซอฟต์แวร์ บริษัทวิจัย Zion Market Research ประมาณการมูลค่าตลาดระบบซอฟต์แวร์สำหรับยานยนต์ทั่วโลกจะมีมูลค่าประมาณ 159,000 ล้านดอลลาร์ และจะถีบตัวสูงขึ้นถึง 225,340 ล้านดอลลาร์ ใน ค.ศ. 2021 โตเฉลี่ยในระดับ 6% ต่อปี* โดยปัจจุบันแหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์เหล่านี้ยังกระจุกตัวอยู่ในประเทศเดิมๆ ไม่ว่า สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี จีน และญี่ปุ่น
จากการสำรวจล่าสุดของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ตลาดซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (Embedded Software) ในประเทศไทย พ.ศ. 2559 มีมูลค่าตลาดรวม 5,277 ล้านบาท โดยกลุ่มที่มีการเติบโต คือ ส่วนของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวเพื่อใช้กับสินค้าของบริษัท โดยมีฐานะเป็นหน่วยผลิตภายใน (in-house producer) มีจำนวนผู้ประกอบการพุ่งสูงขึ้น ซึ่งโตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี้ เป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวแบบหน่วยผลิตภายใน (in-house producer)
มร.มาซามิ ยังเสริมอีกว่า “ปัจจุบันในอุตสาหกรรมยานยนต์มีการพูดถึงยานยนต์อัจฉริยะที่สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองหรือ Autonomous Car หรือยานยนต์ไร้คนขับ (Self Driving) โดยที่ปัจจุบันเริ่มได้เห็นความสามารถของรถยนต์ในปัจจุบันที่ขายอยู่ทั่วไปแต่ยังอยู่ในรูปแบบกึ่งอัตโนมัติ โดยที่บริษัทวิจัยการต์ เนอรได้คาดการณ์ว่า Autonomous Car จะเพิ่มจำนวนขึ้น 25% ใน ค.ศ. 2030 ในประเทศที่มีความพร้อม สำหรับประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถพัฒนารูปแบบการใช้งานภายใต้กฎหมายไปถึงระดับใด แต่ทางโตโยต้า ทูโชฯ ได้ดำเนินการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นแหล่งพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบยานยนต์อัจฉริยะที่สำคัญของโลกต่อไป”
รูปแบบการแข่งขัน Annual Student Meeting on Automotive Embedded System หรือ AMAS นั้นคือ การแข่งขันประกวดซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์จำลองไร้คนขับ โดยมีการคัดเลือกนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ ก่อนแข่งขันทางบริษัทได้จัดอบรมให้กับผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาใช้กับซอฟต์แวร์ระบบควบคุมรถยนต์ โดยที่มีโจทย์ให้บรรดาทีมที่เข้าร่วมการแข่งขันนั้นสร้างซอฟต์แวร์ระบบควบคุมรถยนต์จำลองให้สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ผ่านสิ่งกีดขวางไปยังจุดที่กำหนด
“สิ่งที่เราต้องการให้เกิดจากโครงการการประกวด AMAS ต่อเนื่องมาเป็นปี 2 นั้น คือ การเปิดโอกาสและกระจายความรู้สู่ภาคการศึกษาของประเทศไทยในเรื่องของซอฟต์แวร์ควบคุมรถยนต์ ซึ่งสามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาไปสู่เทคโนโลยียุคใหม่อย่าง Autonomous Car หรือรถยนต์ไร้คนขับได้ในอนาคต และเมื่อประเทศไทยสามารถเปลี่ยนตัวเองจากศูนย์กลางในการผลิตไปสู่ศูนย์กลางในการพัฒนา ทั้งแง่ของการผลิตและสร้างซอฟต์แวร์ยานยนต์เพื่ออนาคตได้แล้ว เชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาชั้นนำของโลกได้อย่างไม่ยาก” มร.มาซามิกล่าว
สำหรับทีมที่ชนะการแข่งขัน คือ ทีมนักศึกษาจาก LKB48 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะได้รับโอกาสให้เข้าเยี่ยมชมศึกษาดูงานพิพิธภัณฑ์ของโตโยต้า และเดนโซในญี่ปุ่น ทีมรองชนะเลิศ คือ ทีม Double E จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้เงินรางวัล 10,000 บาท และทีม Antman จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้รับรางวัลถึง 2 รางวัล คือ รางวัลที่ 3 ได้เงินรางวัล 5,000 บาท และรางวัลพิเศษ คือ รางวัลการออกแบบยอดเยี่ยม (Good Design Award) ได้เงินรางวัล 5,000 บาท