นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ถูกกำหนดให้เป็นแหล่งวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้รับผิดชอบ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และทั่วประเทศ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นที่วังจันทร์ วัลเลย์ 3,455 ไร่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง
โครงการ EECi เริ่มก่อสร้างกลุ่มอาคารในเฟสแรกแล้ว โดยใช้งบประมาณ 1.1 พันล้านบาท ก่อสร้างอาคารหลัก ที่ใช้เป็นสำนักงานใหญ่ EECi เช่น โรงงานต้นแบบและโรงเรือนอัจฉริยะของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน รองรับเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งเมืองนวัตกรรมด้านการบินและอวกาศ คาดว่าโครงการฯจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2564 นอกจากนี้ในปี 2563-2565 จะยังใช้งบประมาณ 3,400 ล้านบาทต่อเนื่องในการก่อสร้างโรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี เพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตรและทรัพยากรชีวภาพของไทยต่อไป
“คาดว่าใน 3-5 ปีข้างหน้า พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย ห้องทดลอง โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิต และศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ” นายพิเชฐกล่าว และว่า สำหรับเอกชนที่เข้ามาร่วมดำเนินการวิจัยและสร้างนวัตกรรม มีสิทธิประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น ที่พักอาศัย โรงพยาบาล โรงแรม และคอมมูนิตี้ มาร์เก็ต รวมถึงมีการผ่อนปรนกฎหมาย เพื่อเอื้อต่อการทดสอบนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนให้การพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) มีมติเห็นชอบในโครงการจัดหาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ เพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) พร้อมกันนี้ยังมีมติเห็นชอบในแนวทางและงบประมาณในการจัดหาและให้ดำเนินการจัดหาคลาวด์กลางภาครัฐ โดยทำสัญญา 3 ปี ซึ่งกระทรวงดีอีมอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท เป็นผู้ดำเนินการจัดทำระบบคลาวด์กลาง และเสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563-2565 เพื่อดำเนินการ คาดว่าจะทำให้รัฐบาลประหยัดค่าเช่าคลาวด์ของประเทศไปได้กว่า 5 พันล้านบาท
ทั้งนี้ แนวทางในการจัดทำระบบคลาวด์กลางภาครัฐ จะออกแบบให้เป็นระบบที่สามารถให้บริการได้กับหลายระบบงานที่มีความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายใน 3 ปี จะสามารถสร้างวิศวกรที่ทำงานเกี่ยวกับคลาวด์ของประเทศได้กว่า 2,500 คน