วันนี้ (5 เมษายน 2562) นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าและนวัตกรรม รองรับโครงการเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ (CHULA Smart City) ณ อาคารวัฒนวิภาส การไฟฟ้านครหลวงสำนักงานใหญ่ คลองเตย
ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง กล่าวว่า กฟน. ในฐานะองค์กรที่มุ่งเน้นสร้างสรรค์นวัตกรรม ขับเคลื่อนระบบพลังงานอัจฉริยะเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณจุฬาลงกรณ์ และสยามสแควร์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ที่มีศักยภาพในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการศึกษาของประเทศ โดยในปี 2561 กฟน. ได้ลงนามความร่วมมือโครงการร่วมพัฒนาเมืองจุฬาฯ อัจฉริยะ เพื่อร่วมกันศึกษา พัฒนารูปแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในพื้นที่ในการดูแลของมหาวิทยาลัย และพัฒนาชุมชนเมืองที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้รับคุณภาพชีวิตที่ดี กระทั่งล่าสุด การร่วมลงนามครั้งนี้ ในปี 2562 ถือเป็นการต่อยอดการบูรณาร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน เพื่อเริ่มดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องมาใช้ในพื้นที่การศึกษาและพื้นที่เชิงพาณิชย์ รวม 1,153 ไร่ ล้อมรอบด้วยถนนพระราม 4 – ถนนพระราม 1 – ถนนบรรทัดทอง – ถนนอังรีดูนังต์ โดยแบ่งเป็นโครงการต่าง ๆ ดังนี้
- ปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดิน เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบไฟฟ้าให้มีความเพียงพอ มั่นคง ปลอดภัย มีทัศนียภาพและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จุฬาฯ ให้สวยงาม โดยปรับปรุงระบบจำหน่ายในพื้นที่สยามสแควร์เป็นระบบสายใต้ดิน ภายในปี 2562 และครอบคลุม
ทั้งพื้นที่จุฬาฯ ภายในปี 2564 - พัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งในพื้นที่จุฬาฯ มีศักยภาพในการติดตั้ง Solar rooftop ประมาณ 20 เมกะวัตต์
- ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage System) ขนาด 1.2 เมกะวัตต์ชั่วโมง ที่สถานีไฟฟ้าย่อยปทุมวัน ภายในปี 2563
- พัฒนาระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ภายในปี 2564 ทำให้สามารถเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ซึ่งหัวใจสำคัญในการเชื่อมโยงและบริหารจัดการพลังงาน ในพื้นที่ Smart City
- พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ภายในปี 2564 ทำให้สามารถควบคุมและแก้ไขระบบไฟฟ้าขัดข้องอย่างอัตโนมัติ ควบคุมคุณภาพไฟฟ้า เช่น แรงดันไฟฟ้า ให้อยู่ในมาตรฐานการให้บริการ และผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าได้
Source: ภาพ-ข่าว การไฟฟ้านครหลวง (MEA) FB: @METROPOLITAN.ELECTRICITY.AUTHORITY