เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)


จากมติคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 ให้เป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เพื่อส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา นั้น

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก จะเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกของไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และกำลังคนของประเทศและภูมิภาค เนื่องจากการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อปรับเปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่ประเทศไทย 4.0 และเพื่อเชื่อมโยงระบบการค้าและการขนส่งสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเสนอแนวทางการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออกด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (EECi) เพื่อสร้างพื้นที่นวัตกรรมใหม่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย รวมถึงชุมชนในพื้นที่เพื่อช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

วัตถุประสงค์หลักของ EECi

  1. การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง (Translational Research)
  2. ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ด้วยการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรรมในพื้นที่ควบคู่ไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับเป็นพื้นฐานรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งอุตสาหกรรมในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั่วประเทศ
  3. เชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างสังคมนวัตกรรมของประเทศ รองรับความต้องการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ในลักษณะบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐ ในลักษณะการทำงานร่วมแบบ Triple Helix และขยายผลต่อยอดไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน ในลักษณะการทำงานร่วมแบบ Quadruple Helix

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือเรียกว่า EECi จะประกอบไปด้วยระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มข้นของงานวิจัย พัฒนา และนวัตกรรมห้องปฏิบัติการวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน ห้องทดลองภาคสนาม (Living Lab) ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบชั้นนำ โรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิต ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ดังมีองค์ประกอบของระบบนิเวศนวัตกรรมและแนวทางการดำเนินงานหลัก ดังนี้

  • เป็นแหล่งวิจัยและนวัตกรรมที่เข้มข้น (R & I Focus) เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ไปตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมทั้งในพื้นที่ EEC และทั่วประเทศ โดยเป็นการทำงานร่วมกันทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย และภาครัฐ
  • ศูนย์รวมห้องปฏิบัติการวิจัยของรัฐและเอกชน (Concentration of Public & Private Laboratory) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกัน เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนอุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ
  • สนามทดสอบและการพัฒนาสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม (Scale-Up, Testbeds & Living Lab, Green House, Field Demo) มุ่งเน้นขยายศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบ รวมถึงโรงงานต้นแบบและโรงงานสาธิตในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมได้
  • ยกระดับอุตสาหกรรมเดิม (Existing Industry Upgrade) โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ EEC และพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งลดระยะเวลาและแรงงานลง
  • พัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ (New Industry Development) ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ตลอดจนส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและพื้นที่อื่นทั่วประเทศ ตลอดจนพัฒนากำลังคนของอุตสาหกรรมและสร้างผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต
  • กำหนดให้เป็นเขตผ่อนปรนกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (Sandboxes for Regulatory Adjustment) เพื่อให้เป็นสนามทดสอบ ผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ แพลตฟอร์ม และแอปพลิเคชันอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • สนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Startups & SMEs Support) ด้วยการบ่มเพาะผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ การเร่งสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุนระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการจัดตั้งชุมชนนวัตกรรมที่สะดวก และเป็นศูนย์รวมของเครือข่ายการลงทุนของนักลงทุน (Venture Capital & Angel Funding) ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  • สร้างชุมชนขนาดใหญ่ของนวัตกรรม (Large Community of Innovators) ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรม นักคิดค้นเทคโนโลยี นักลงทุนด้านนวัตกรรม ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรมระหว่างเครือข่ายนวัตกรรมภายในประเทศกับเครือข่ายต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากบริษัทและสถาบันวิจัยระดับโลกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพของประเทศ (Advance National Quality Infrastructure) เพื่อการตรวจสอบและประเมินตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการรับรองคุณภาพของสินค้าและบริการ และคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัย
  • ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน (Solution for Community) โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปช่วยสนับสนุนในการทำงานและการดำเนินชีวิต รวมทั้งช่วยในการรักษาสภาพแวดล้อมและบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชน
  • แก้ปัญหาและให้คำปรึกษาแก่ภาคอุตสาหกรรม (Solution for Industry) โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้กับภาคอุตสาหกรรม ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรมช่วยยกระดับกระบวนการผลิตให้สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งลดระยะเวลาและแรงงาน

Background of EEC

EEC ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ โดยมี EECi เป็นเขตนวัตกรรมขับเคลื่อนให้พื้นที่ EEC เป็นพื้นที่ต้นแบบในการนำนวัตกรรมเข้าไปผลักให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และปรับฐานอุตสาหกรรมเดิมในพื้นที่ให้เป็นอุตสาหกรรมที่มีฐานนวัตกรรมและอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยม่งุ เน้น 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่

  1. เกษตรสมัยใหม่และเทคโนโลยีชีวภาพ
  2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
  3. แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและขนส่งสมัยใหม่
  4. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
  5. เทคโนโลยีการบินและอวกาศ
  6. เครื่องมือทางการแพทย์

EECi มีพื้นที่ในการพัฒนานวัตกรรมตั้งอยู่ที่วังจันทร์ วัลเลย์ จังหวัดระยอง โดยมีวิสเทค มหาวิทยาลัยวิจัยอยู่ในพื้นที่ EECi ประกอบด้วย กลุ่มนวัตกรรมขนาดใหญ่ 3 กลุ่ม ได้แก่ ไบโอโพลิส อริโพลิส และสเปซ อินโนโพลิส เพื่อทำงานร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ เอกชน ชุมชนในพื้นที่และหน่วยงานพัฒนาเทคโนโลยี ทั้งในและต่างประเทศ ร่วมพัฒนา EEC ผ่านการร่วมสร้างเทคโนโลยี และรังสรรค์นวัตกรรม ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของระบบนิเวศ นวัตกรรมที่เอื้อให้คนในพื้นที่ได้เกิดการร่วมพัฒนาเทคโนโลยี มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมสำหรับการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างลงตัว รองรับการทำวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง โดยมีเครื่องมือที่พร้อมในการขยายขนาด เช่น โรงงานต้นแบบ โรงงานสาธิตพื้นที่ทดลองผลิต สนามทดลอง ศูนย์กลางการวิเคราะห์ทดสอบและการมาตรฐาน และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เอกชน ภาครัฐและมหาวิทยาลัย ทั้งจากในและต่างประเทศ สามารถร่วมใช้บริการอาคาร และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิจัย หรือเช่าพื้นที่ระยะยาวเพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและนวัตกรรมของบริษัทได้ โดยมีสิทธิประโยชน์ BOI สูงสุด และมีการผ่อนปรนกฎระเบียบ สำหรับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EECi เป็นหัวใจของการสร้างนวัตกรรมใน EEC มีสภาพแวดล้อมและกลไกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ผสานเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการผลิตและบริการขั้นสูงสำหรับประเทศไทย 4.0

ARIPOLIS เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ในอดีตประเทศไทยมีการละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องการองค์ความรู้มาก ขาดผู้เชี่ยวชาญและไม่ได้สร้างตลาดแรงงานขนาดใหญ่ให้เป็นแหล่งงานของประชากรในประเทศ แต่เมื่อประเทศไทยปรับเปลี่ยนทิศทางของประเทศให้เข้าสู่ระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจสูงขึ้นในระดับประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Country) ในขณะที่ประชากรในระดับการใช้แรงงานของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ “ประเทศไทย 4.0” ถ้าไม่เร่งพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีฐานที่สำคัญในการนำไปใช้ในกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างเร่งด่วนแล้ว จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าสู่ “ประเทศไทย 4.0” ได้สำเร็จ

เพื่อสนับสนุนการผลักดันประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0 ได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ARIPOLIS ภายใต้โครงการ EECi จึงได้กำหนดแผนการดำเนินการในการผลักดันสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ผ่านการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี ทางด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดังต่อไปนี้

ในระยะแรก จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพและเคมีชีวภาพ และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม 4.0 เช่น “AI for Precision Agriculture” การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเซนเชอร์เพื่อการเกษตร โรงเรือนอัจฉริยะและแพลนท์แฟคทอรี Drones/UAVs ในภาคเกษตร การออกแบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ Smart Manufacturing Technology (Industrial IoT Sensors, Advanced Industrial Robotics/Smart Machine, Factory 4.0 Testbed/Sandbox/Living Lab, Learning Factory for Workforce Reskilling, Augmented/Virtual Reality for Industry)

ในระยะถัดไป จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่ และกลุ่มอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เช่น Energy Storage/Smart Energy Living Lab การทดสอบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ เทคโนโลยีการผลิตและประกอบแบตเตอรี่ การควบคุมยานยนต์และการนำทาง วิศวกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติ การทดสอบยานยนต์อัตโนมัติภายใต้สภาวะเสมือนจริง AI for Autonomous Vehicle มาตรฐานและกระบวนการทดสอบ AI for Aerospace & Aviation

ในระยะที่สาม จะเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เช่น การบูรณาการเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์การพัฒนาต้นแบบเครื่องมือแพทย์ การทดสอบเครื่องมือแพทย์ ศูนย์บริการเชื่อมโยง อย. ISO/CE Certifying Coordination

บทความนี้ยังไม่จบนะครับ สามารถติดตามเรื่องราว เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ตอนที่ 2 ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ BIOPOLIS เมืองนวัตกรรมชีวภาพ, SPACE INNOPOLIS การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแบบครบวงจร, FOOD INNOPOLIS การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนวัตกรรมผนวกเข้ากับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับจากการลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) 


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เอง โดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save